ยุคแห่งปัญญาประดิษฐ์

ยุคแห่งปัญญาประดิษฐ์

ยุคแห่งปัญญาประดิษฐ์ รวบรวม กฎหมายและการกำกับดูแล AI ในไทย ไปถึงไหนแล้ว?

เป็นที่ประจักษ์กันทั่วโลกแล้ววถึงการพัฒนาอย่างรวดเร็วของ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ หรือ AI (Artificial Intelligece) ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา เราเห็นการรับเอา AI ไปใช้งานเกิดขึ้นเกือบจะทุกภาคส่วนในสังคม จนสามารถกล่าวได้ว่าในระยะเวลาสั้นๆ โลกผสาน AI เข้ากับไลฟ์สไตล์และธุรกิจการงานจนกลายเป็นเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวันแล้ว จนเกิดคำถามตลอดเวลาว่า AI จะแทนที่สิ่งนี้สิ่งนั้นได้หรือไม่?

การเกิดขึ้นใหม่ของนวัตกรรม AI ในทุกวันๆ นำไปสู่การตั้งคำถามถึงความเสี่ยง ขอบเขตหรือกฎเกณฑ์อะไรบางอย่างเพื่อให้แน่ชัดว่า สิ่งนี้ปลอดภัยใช้งานได้อย่างราบรื่น อีกด้านหนึ่งของ AI จึงถูกเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิดจากหน่วยงานกำกับดูแล

“AI Regulation” จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นมหภาคที่กระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรัฐบาลตื่นตัวด้านข้อกฎหมาย โดยช่วงที่ผ่านทั่วโลกมีเคลื่อนไหวด้านการพัฒนากฎระเบียบ การระบุความเสี่ยง กลยุทธ์รับมือเชิงนโยบาย ตลอดจนการออกข้อกฎหมายเพื่อควบคุม AI ในหลายประเทศ นำโดยสหรัฐอเมริกาและจีน โดยล่าสุดในเดือนธันวาคมปี 66 สหภาพยุโรป หรือ EU ก็ได้อนุมัติ “EU AI Act” ซึ่งนับเป็น กฎหมาย AI ฉบับแรกของโลก ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วในประเทศสมาชิก

ประเทศไทยบ้านเราก็มีความเคลื่อนไหวเรื่อง AI จำนวนมากทั้งในภาคธุรกิจหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา ต่อเนื่องทั้งปี โดยปัจจุบันกรอบกติกาในไทยยังเป็นเพียง แนวปฏิบัติ หลักการใช้งาน ยังไม่มีกฎระเบียบที่มีอำนาจบังคับทางกฎหมาย หรือยังไม่มีการบัญญัติโทษ

Thairath Money บทความนี้ จึงขอรวบรวม “ความเคลื่อนไหวด้านกฎระเบียบ AI ในประเทศไทย” เพื่อทบทวนและอัปเดตว่ากรอบกติกาที่เกี่ยวข้องกับ AI บ้านเราเดินหน้าไปถึงไหน เกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงที่ผ่านมา

แนวปฏิบัติด้านจริยธรรม AI Ethics

ที่ผ่านมา ไทยเรามี Thailand AI Ethics Guideline แนวปฏิบัติจริยธรรม AI สำหรับผู้วิจัย ผู้ออกแบบ ผู้พัฒนาและผู้ให้บริการ AI ในประเทศไทยใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการใช้อย่างมีจริยธรรม และเพื่อทราบถึงสิทธิและตระหนักรู้ถึงความเสี่ยง ซึ่งถูกเผยแพร่หลังได้รับมติเห็นชอบในชื่อ “หลักการและแนวทางจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทย” ซึ่งจัดทำโดย สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ภายใต้กระทรวงดีอีเอส โดยมี บริษัท ไมโครซอฟต์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นที่ปรึกษา

นอกจากนี้ยังมีแนวปฏิบัติจริยธรรมจากหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้จัดทำเพื่อใช้กำกับดูแลการดำเนินงานด้าน AI ของหน่วยงานตนเอง เช่น NSTDA AI Ethics Guideline แนวปฏิบัติจริยธรรม AI ของ สวทช. หรือ Thailand Artificial Intelligence Guidelines 1.0 – TAIG 1.0 แนวปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรฐานการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ของ ศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนาคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โครงการด้าน AI ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา DES

นอกจากนี้ สดช. ยังอยู่ระหว่างการ จัดทำ (ร่าง) ข้อเสนอเชิงนโยบายด้านปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทย และ (ร่าง) ระเบียบ มาตรการ มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับ AI ที่จะจัดทำเป็น “ร่าง พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการที่ใช้งานระบบปัญญาประดิษฐ์ พ.ศ…..” โดยล่าสุดได้ทำการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะเป็นที่เสร็จสิ้น

ETDA

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA จัดทำโครงการเพื่อการศึกษา หารือ และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำกับดูแลและส่งเสริมเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่จะพัฒนาสู่ “(ร่าง) พระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทย พ.ศ….” “(ร่าง) ประกาศเรื่องศูนย์ทดสอบนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI Sandbox)” และ “(ร่าง) ประกาศเรื่องการประเมินความเสี่ยงจากการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์” เพื่อต่อยอดไปยัง แนวทางการจัดตั้งศูนย์ประเมินการทำงานของ AI ในประเทศไทยอีกด้วย โดยล่าสุดทั้งหมดยังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ

กรอบการทำงานด้าน AI ของภาครัฐ

นอกจากนี้ การทำงานของภาครัฐเองก็มีการตื่นตัวเพื่อรองรับ AI เพื่อพัฒนาระบบการให้บริการสาธารณะสำหรับประชาชน โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์กรมหาชน) สพร. (DGA) ผู้อยู่เบื้องหลังการทำดิจิทัลทรานฟอเมชันในภาครัฐ เริ่มเคลื่อนไหวด้าน AI ตั้งแต่ ปี 2562 และ 2563 การจัดตั้ง ศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ภาครัฐ (AI Government Center: AIGC) พร้อมจัดทำ “AI Government Framework” กรอบการทำงานด้านปัญญาประดิษฐ์ของภาครัฐไทย

รัฐบาลประยุทธ์ จัดตั้ง แผนปฏิบัติการด้าน AI แห่งชาติฯ

ทั้งนี้ ในปี 2565 รัฐบาลไทยภายใต้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดการประชุมแผนปฏิบัติการด้าน AI แห่งชาติฯ ครั้งแรก พร้อมจัดตั้ง คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) และ “แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศไทยปี พ.ศ. 2565-2570” ที่ผ่านการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันต่างๆ ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในเดือนกรกฎาคมปี 65 ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ 15 แผนงานในกว่า 10 อุตสาหกรรม

นำโดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) (ETDA) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) (NSTDA) โดยคณะกรรมขับเคลื่อนแผนฯ ยังอยู่ระหว่างการศึกษา AI Standard Landscape เพื่อจัดทำนโยบายและร่างกฎหมาย เพื่อเป็นมาตรฐาน AI ของประเทศไทย

11

ผลงานหนึ่งปีที่ผ่านมาของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนฯ อ้างอิงตาม AI Thailand Annual Report ประจำปี 2566 มีการบูรณาการส่วนต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา เกิดโครงการวิจัยและพัฒนาด้าน AI ในกองทุน R&D 1,290 ล้านบาท มีการลงทุนใน AI Startup จากการส่งเสริมของรัฐ 639 ล้านบาท

โดยปีงบประมาณ 2566 เกิดโครงการด้าน AI ของหน่วยงานภาครัฐกว่า 60 หน่วยงาน จำนวน 122 โครงการ รวมมูลค่าลงทุนประมาณ 7,355 ล้านบาท นอกจากนี้ ตัวชี้วัดสำคัญ Government AI Readiness Index ของไทยในปี 2565 ขยับขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 31 จากทั้งหมด 181 ประเทศ เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบรายปี นอกจากนี้ยังมีผลงานอื่นๆ ที่โดดเด่น อาทิ

  • เปิด ศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AIGC) แหล่งความรู้และผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมาภิบาล AI ให้คำปรึกษา เผยแพร่องค์ความรู้ และสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  • สร้าง แพลตฟอร์มกลางบริการ AI ของประเทศไทย (National AI Service Platform) สำหรับบริการภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เพื่อรวบรวมข้อมูลของบริการ AI พร้อมใช้ ภายใต้การสนับสนุนโดยระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC)
  • การทำ Data Sharing เช่น ระบบวิเคระห์เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาความยากจนแบบชี้เป้า (TP Map), เครือข่ายแพลตฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลเปิดด้านการแพทย์ (Medical AI Data Sharing) เพื่อแชร์ข้อมูลด้านการแพทย์ให้เข้าถึงได้ระหว่างหน่วยงาน

cr.https://www.thairath.co.th/money/tech_innovation/digital_transformation/2752978

ติดต่อเรา