AI จะมาแทนแรงงานมนุษย์ ได้จริงหรือไม่?

AI จะมาแทนแรงงานมนุษย์ ได้จริงหรือไม่

ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในปัจจุบัน AI ถูกสร้างและพัฒนาออกมาในหลากหลายรูปแบบเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการในการใช้เกือบทุกๆ ด้าน

จึงเกิดคำถามสำคัญว่า การที่ AI สามารถทำงานส่วนใหญ่ที่แรงงานทำได้ โดยทำงานได้เร็วกว่า แม่นยำกว่า และใช้ต้นทุนน้อยกว่า อาจหมายความว่าในอนาคต AI จะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Disrupt) ในตลาดแรงงานและแทนที่แรงงานมนุษย์ทั้งหมดได้หรือไม่

AI คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาในลักษณะของโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อให้ประมวลผลและแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้คล้ายกับมนุษย์

ทั้งนี้ AI เป็นคำที่ครอบคลุมโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์หลายอย่างที่เราอาจเคยได้ยินกันมาบ้าง เช่น Machine learning natural language processing และ Deep learning โดยหลักการพื้นฐานของ AI คือการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (Mathematical model) หรือ Algorithm ที่สามารถประมวลผลชุดข้อมูลที่มีอยู่เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ เช่น การจัดประเภทข้อมูล การทำนายโดยอ้างอิงจากข้อมูล หรือการหาแบบแผนในชุดข้อมูล

AI ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลากหลายรูปแบบในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาในอินเทอร์เน็ต (Search engine) ระบบการให้คำแนะนำในแพลตฟอร์มต่างๆ (Recommendation system) และระบบนำทาง (GPS) โดยในปัจจุบัน AI ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด จนสามารถประมวลผลได้ “เสมือน” กับมนุษย์จริงๆ ซึ่งเห็นได้จาก AI หลายประเภทที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เช่น ChatGPT ซึ่งเป็น AI ที่อยู่ในรูปแบบของ Large Language Model (LLM) ทำหน้าที่เสมือน Chatbot ตอบคำถามผู้ใช้งานในรูปแบบของบทสนทนาเกี่ยวกับหัวข้ออะไรก็ได้ ซึ่งจะมีความยาว ความซับซ้อน หรือความละเอียดเท่าไรก็ได้

ความก้าวหน้าของ AI อย่างก้าวกระโดดในปัจจุบัน ชี้ให้เห็นว่า AI ได้สร้างอาชีพใหม่ๆ ให้กับแรงงานที่มีทักษะและความรู้ในด้าน AI ต่างๆ เพื่อมาช่วยพัฒนา AI ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกัน การที่ AI ถูกพัฒนาให้ “คิด” ได้ “เสมือน” กับมนุษย์ ทำให้เห็นว่า AI อาจส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อแรงงานหลายกลุ่มอาชีพ

โดยข้อมูลจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดระบุว่า จำนวนตำแหน่งงานที่ต้องการผู้มีทักษะด้าน AI ในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ในทั้ง 14 ประเทศในทวีปอเมริกาและยุโรป (รูปที่ 1)

รูปที่ 1

 

นอกจากนี้ ในสหรัฐอเมริกา สัดส่วนของตำแหน่งงานที่ต้องการผู้สมัครที่มีทักษะ AI ในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปี 2564 เกือบทุกกลุ่มอาชีพ โดยสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในกลุ่มอาชีพ Information professional, Scientific and technical services, Finance and insurance (รูปที่ 2)

รูปที่-2

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่า AI จะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างกว้างขวาง ความเป็นไปได้ที่ AI จะสามารถแทนที่แรงงานได้โดยสมบูรณ์นั้นยังมีค่อนข้างน้อย เพราะ AI ยังคงมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ไม่สามารถประมวลผลได้ “เหมือน” กับการทำงานของมนุษย์โดยแท้จริง เช่น 1) ลักษณะข้อมูลที่ใช้ในการฝึกฝน AI ข้อมูลที่มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน เช่น น้ำเสียง อารมณ์ความรู้สึก ความนึกคิด จะต้องถูกแปลงให้เป็นตัวเลข เพื่อให้สะดวกต่อการคำนวณด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ หรือ Algorithm ต่างๆ และผลลัพธ์ที่ AI ประมวลผลออกมานั้น ก็จะออกมาเป็นตัวเลข ซึ่งอาจจะไม่สามารถสื่อความหมายผลลัพธ์จริงๆ ได้อย่างสมบูรณ์

ดังนั้นผู้ที่ออกแบบ AI เพื่อใช้ในการทำงานด้านต่างๆ ยังคงต้องพึ่งพาแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อช่วยให้เตรียมข้อมูลที่ใช้ในการฝึกฝน AI และตีความผลลัพธ์ที่ได้จาก AI ให้ถูกต้องมากที่สุด

2) ความถูกต้องและการใช้งานของ AI แม้ว่า AI ที่ถูกพัฒนาขึ้นมานั้นจะมีความซับซ้อนมากเพียงใดก็ตาม สิ่งที่ถูกประมวลผลมาจาก AI ก็ยังคงไม่สามารถที่จะนำมาใช้ได้ โดยไม่ผ่านการตรวจสอบจากแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญ

โดยแรงงานเหล่านี้ต้องพิจารณาว่าผลลัพธ์ที่ AI ประมวลออกมาตรงกับความเป็นจริงไหม และสามารถนำมาใช้ในสภาพแวดล้อมจริงได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นไปได้ยากที่ AI จะสามารถแทนที่แรงงานได้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า แรงงานและภาคเอกชนไม่จำเป็นต้องปรับตัวใดๆ ภาคเอกชนจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้การนำ AI เข้ามาใช้ได้ถูกต้องและเหมาะสมกับความต้องการและแรงงานในทุกกลุ่มธุรกิจก็จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ในการทำงานร่วมกับ AI ให้ได้

โดยเรียนรู้หลักการการทำงานพื้นฐานของ AI ตั้งแต่การเตรียมข้อมูลเพื่อฝึกฝน AI การฝึกฝน AI และการนำ AI ไปใช้งานจริง โดยเฉพาะการทำงานของ AI ที่เกี่ยวกับงานในอาชีพของตนเอง และเรียนรู้ทักษะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ AI เช่น Machine learning และ Deep learning เพิ่มเติม

สำหรับการนำ AI มาใช้ในประเทศไทยเอง แม้ว่าจะเพิ่งได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางไม่นานมานี้ ในระยะข้างหน้า ภาครัฐ ภาคเอกชน และแรงงานก็ต้องเตรียมพร้อมในการปรับตัวหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นทักษะของแรงงาน กฎหมายและกฎระเบียบในการใช้ AI และโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล (Data infrastructure) เพื่อให้แรงงานไทยสามารถทำงานร่วมกับ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และไม่ตกอยู่ในกลุ่มแรงงานที่อาจถูก Disrupt จากการมาถึงของ AI ตามกระแสเทคโนโลยีในโลกที่เปลี่ยนไป

cr.https://www.thairath.co.th/money/experts_pool/columnist/2737291

ติดต่อเรา