ทำความรู้จัก AI และ Machine Learning

AI และ Machine Learning

ทำความรู้จัก AI และ Machine Learning สองเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกธุรกิจสู่ความสำเร็จ

เมื่อทิศทางของตลาดต่างปรับตัวไปสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น ทำให้เราได้เห็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นและเข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางธุรกิจ ซึ่ง Artificial Intelligence (AI) และ Machine Learning (ML) ก็ถือเป็นเทคโนโลยีสุดล้ำที่ใคร ๆ ก็ต่างพูดถึง เพราะเรียกได้ว่าช่วยแบ่งเบาภาระงานของมนุษย์ได้อย่างเต็มที่ ทั้งด้านความแม่นยำ ความรวดเร็ว และคุณภาพในการทำงาน ซึ่งหากนำมาปรับใช้ในธุรกิจก็จะยิ่งส่งผลให้มีโอกาสเติบโตสู่ความสำเร็จ

ในบทความนี้ คุณไพฑูรย์ จันทร์สุข ผู้ให้คำปรึกษาสำหรับการใช้ Machine Learning, iCONEXT Co., Ltd. และ ICHI ผู้ให้ความรู้ด้าน Digital Solution จะนำความรู้เกี่ยวกับ AI และ ML สองเครื่องมือนำพาธุรกิจสู่ความสำเร็จมาให้ทุกคนได้รู้จักกันเพิ่มขึ้น

จุดเริ่มต้นและการเข้ามาของ AI และ ML ในงานของมนุษย์
AI และ ML นั้นเกิดขึ้นมาจากการคิดค้นของมนุษย์ โดยเริ่มต้นหลังจากที่มีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งาน ทำให้ผู้คนได้มีโอกาสศึกษาต่อยอดความรู้จนพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างเครื่องมือที่ช่วยแบ่งเบางานจากมนุษย์ พูดได้ว่าเป็นมองกลที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบทั้งแบบ Virtual ที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ หรือจะเป็นหุ่นยนต์ที่พบเห็นได้ในภาพยนต์ต่าง ๆ โดย AI เป็นเหมือนสมองที่ถูกสร้างขึ้นมาแต่ยังไม่มีการเรียนรู้ ดังนั้นจึงต้องมี ML เข้ามาทำหน้าที่เสริมประสิทธิภาพ และช่วยทำให้ AI สามารถเรียนรู้ได้นั่นเอง

“AI จำเป็นต้องมีอัลกอริทึม (Algorithm) มาสร้างโมเดล เพราะ AI เปรียบเสมือนสมองกลเปล่า ๆ ที่เหมือนเด็กเกิดใหม่ยังไม่มีความรู้ใด ๆ ดังนั้น เราต้องฝึกอะไรซ้ำ ๆ อย่างเป็นรูปแบบ ซึ่งสิ่งที่สร้างการเรียนรู้ให้กับ AI ก็คือ ML” คุณไพฑูรย์ กล่าว

สำหรับ AI และ ML นั้นมีการนำมาใช้งานจริงในช่วงประมาณ 10 ปีก่อน แต่ก็ยังไม่ได้ถูกพัฒนาจนมีประสิทธิภาพมากนักหากเทียบกับในปัจจุบัน ทำให้มีการพยายามพัฒนาต่อเนื่องให้มีความแม่นยำ และชำนาญมากขึ้นจนถึงขั้นที่สามารถเข้าใจภาษาของมนุษย์ได้หลากหลายภาษา ซึ่งตัวอย่างที่สามารถเห็นได้คือ การพัฒนาของ iPhone ที่มีสามารถรับคำสั่งแบบเสียงได้ในหลากหลายภาษา โดยมีส่วนมาจากการที่ AI ได้เรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนเริ่มมีประสิทธิภาพมากขึ้น

คุณไพฑูรย์ กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นของ AI คือการเขียนโปรแกรมเพื่อช่วยให้มนุษย์ทำงานได้ง่ายขึ้น และเริ่มพัฒนาให้โปรแกรมต่าง ๆ ทำงานแทนคนได้มากขึ้น โดยมนุษย์ต้องการให้โปรแกรมเหล่านี้เรียนรู้เองได้ คิดเองได้ ไปจนถึงสามารถดำเนินการ หรือทำอะไรแทนมนุษย์ได้มากขึ้น”

การปรับใช้ AI และ ML ในธุรกิจ

ในปัจจุบัน AI และ ML สามารถปรับใช้ได้ในหลายธุรกิจและหลากหลายประเภทงาน เนื่องจากการถูกออกแบบมาเพื่อสามารถทำงานของมนุษย์ให้ได้ โดยเฉพาะในส่วนงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น การนำ AI มาใช้ในธุรกิจท่องเที่ยว อย่างการนำ AI มาคำนวณเที่ยวบินและระยะการเดินทาง หรือพยากรณ์สภาพอากาศ

สำหรับประเทศไทยนั้นกลุ่มธุรกิจที่นำ AI และ ML มาใช้ได้มากที่สุดก็คือกลุ่มธนาคาร โดยนำมาใช้กับการ Credit Scoring หรือการคัดกรองคนที่จะมากู้เงินกับธนาคาร ซึ่ง AI จะเข้ามาช่วยวิเคราะห์ผู้ขอกู้ยืม รวมถึงตรวจสอบด้านการฉ้อโกงที่อาจเกิดขึ้น อ้างอิงจากการบันทึกข้อมูลหลายกรณีศึกษาและเปรียบเทียบข้อมูล หากมีพฤติกรรมคล้ายคลึง AI ก็จะสามารถตรวจจับได้อย่างทันเวลา ซึ่งรวดเร็วกว่าการตรวจจับโดยมนุษย์

 อย่างไรก็ตาม คุณไพฑูรย์ มองว่าในประเทศไทยนั้นความแพร่หลายในการนำ AI และ ML มาใช้สำหรับธุรกิจถือว่าค่อนข้างตามหลังหลาย ๆ ประเทศ เนื่องจากโครงสร้างธุรกิจที่ไม่ค่อยลงทุนกับเรื่องของเทคโนโลยีมากนัก รวมทั้งสถานการณ์ COVID-19 ที่เข้ามาชะลอการลงทุนด้านเทคโนโลยีให้น้อยลงไปอีก บวกกับทรัพยากรบุคคลของไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ยังน้อย เพราะ ML จำเป็นต้องถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาเหมือนมนุษย์ที่ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา จึงควรมีผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมจะคอยพัฒนา ML ให้เรียนรู้อยู่เสมอ โดยคาดว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะได้เห็นการใช้งาน AI และ ML กับหลาย ๆ หน่วยงานในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น 

แม้ปัจจุบันทางภาครัฐจะมีการนำ AI และ ML มาใช้บ้าง เช่น การพยากรณ์อากาศ แต่ยังมีอีกหลายส่วนที่ยังไม่สามารถนำ AI หรือ ML มาใช้ได้ เนื่องจากปัญหาในเรื่องของการเก็บข้อมูลที่ยังไม่สมบูรณ์ โดยข้อมูลไม่ละเอียดเพียงพอที่จะนำไปใช้ เพราะ ML จำเป็นต้องดูข้อมูลย้อนหลังจำนวนมากถึงจะวิเคราะห์ได้แม่นยำ ดังนั้นการเก็บข้อมูลอย่างต่ำจะอยู่ที่ 3 ถึง 5 ปี

“ML เกิดขึ้นหลังจากที่ Big Data เริ่มมีบทบาทในไทยช่วงตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว โดยถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้วิเคราะห์ข้อมูลมหาศาล เพราะถ้าหากยังใช้คนในการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากก็จะใช้เวลานาน และมีความแม่นยำน้อย ซึ่ง Big Data จะค่อนข้างประสบความสำเร็จ และเติบโตในปัจจุบันได้ แต่ ML เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วง COVID-19 จึงเติบโตช้า นอกจากนี้ ML ยังใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ปัจจุบันในประเทศไทยจึงได้เห็นธุรกิจที่ใช้ ML เป็นหลักคือองค์กรใหญ่อย่างกลุ่มธนาคาร” คุณไพฑูรย์ กล่าว 

แนะ 3 ขั้นตอนก่อนเริ่มใช้ AI และ ML ในธุรกิจ

1. เปิดใจยอมรับเทคโนโลยี AI และ ML เข้ามาใช้งานในองค์กรด้วยความเชื่อว่าจะสามารถพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้

2. เข้าใจพื้นฐานการทำงานของ AI และ ML เช่น การเก็บข้อมูลต้องการเก็บข้อมูลประเภทไหน จะนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้งานอย่างไร และเพื่อเป้าหมายใด

3. มีความเข้าใจและความรู้เบื้องต้นในด้านเศรษฐศาสตร์และคณิตศาสตร์ เพราะ AI และ ML เป็น Algorithm ของคณิตศาสตร์ ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาข้อมูลทางเทคนิคในเบื้องต้น เพื่อให้เข้าใจหลักการทำงานของระบบ

ทำความเข้าใจข้อดีและข้อเสียของทั้ง  AI และ ML ก่อนใช้งาน

 การมี AI และ ML ในองค์กรจะช่วยเพิ่มความแม่นยำในทำงานให้มากยิ่งขึ้นเพราะ AI ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อลดอคติ (Bias) ของมนุษย์  อีกทั้งช่วยลดภาระงานของมนุษย์ในส่วนงานที่ต้องทำเหมือนเดิมซ้ำ ๆ ทำให้มนุษย์มีเวลาไปทำงานส่วนอื่น ๆ ได้อีก และยังลดค่าใช้จ่ายขององค์กรในระยะยาวเนื่องจาก AI และ ML สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องและแม่นยำ  แต่ก็ยังมีข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นได้นั้นก็คือการเข้ามาแทนที่ในงานบางตำแหน่ง ทำให้มนุษย์ต้องเร่งพัฒนาทักษะที่ AI ไม่มี เช่น ความคิดสร้างสรรค์ 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นของการนำเทคโนโลยีอย่าง AI และ ML มาใช้ในองค์กร ซึ่งในอนาคตเทคโนโลยีเหล่านี้ก็จะยิ่งพัฒนาศักยภาพขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ เพื่อตอบรับกับความต้องการของมนุษย์และเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระในอีกหลากหลายงาน 

“การป้อนข้อมูลและความรู้เหล่านี้ให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด เพื่อนำไปพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลหรือสนับสนุนในการเรียนรู้ด้าน AI และ ML ก็จะส่งผลดีต่อประเทศ” คุณไพฑูรย์ กล่าวในตอนท้าย 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมแบบเจาะลึกในด้านการใช้ AI และ ML ในธุรกิจ สามารถติดตามได้ที่ https://www.jrit-ichi.com/cutting/2022/06/22/1183 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

− 1 = 1